การเจรจามีขึ้นกลางเดือนตุลาคม หลังจากนั้นไม่นาน แอลวีเอ็มเอช เจ้าของแบรนด์ดังอย่างหลุยส์ วิตตอง ก็ตัดริบบิ้นเปิดโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในเมืองจอห์นสัน เคาน์ตี้ ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ข่าวระบุว่าในวันเปิดโรงงานนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ให้เกียรติ มาเป็นประธานเปิดงานด้วยตัวเอง
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยว่า ทั้งการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายและผลประกอบการ รวมทั้งราคาหุ้นของทิฟฟานี่ เป็นตัวเร่งให้บริษัทตัดสินใจขายกิจการก่อนที่บริษัทคู่แข่งจะฉวยโอกาสเปิดเกมรุกตอนที่บริษัทกำลังมีจุดอ่อน “แอลวีเอ็มเอชต้องเปิดเกมก่อนใคร เพราะบริษัทอยู่แถวหน้าเป็นอันดับหนึ่งระดับโลก ยากที่คู่แข่งหน้าไหนจะมาประมูลสู้” แหล่งข่าวคนเดียวกันออกความเห็น
มี 3 บุคคลสำคัญที่ทำให้ดีลนี้ประสบความสำเร็จ และทั้ง 3 คนก็มีสัญชาติเป็นคนอิตาเลียนเหมือนๆกัน ทำให้สื่อเรียกขานการเซ็นสัญญาซื้อกิจการครั้งนี้ว่า “อิตาเลียน จ๊อบ” (Italian Job) ผู้บริหารทั้ง 3 คนได้แก่ นายแอนโตนิโอ เบลโลนี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลวีเอ็มเอช นายอเลสซานโดร โบกลิโอโล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิฟฟานี่ และนายฟรานเชสโก ทราปานี กรรมการบริหารของทิฟฟานี่ ซึ่งเบลโลนีที่เป็นมือขวาของนายเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอลวีเอ็มเอชนั้น มีสายสัมพันธ์อันดีกับ 2 ผู้บริหารฝ่ายทิฟฟานี่ตั้งแต่เมื่อครั้งทั้งคู่ยังทำงานอยู่กับบริษัท บุลการี ผู้ผลิตเครื่องประดับแบรนด์ดังของอิตาลี ที่แอลวีเอ็มเอชไปทุ่มทุนซื้อมาในปี 2554 ซึ่งนั่นก็เป็นครั้งแรกที่แอลวีเอ็มเอชเข้าเทคโอเวอร์บริษัทที่เป็นผู้ผลิตแบรนด์เครื่องเครื่องประดับอัญมณีระดับไฮเอนด์
แหล่งข่าวเผยว่า นายเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลก (ในทำเนียบ Bloomberg Billionaires Index) ซีอีโอของอาณาจักรแอลวีเอ็มเอช เป็นนักเจรจาตัวยงและเขาก็ให้ความสำคัญกับดีลนี้เป็นอย่างมาก เขาให้ความสำคัญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสินทรัพย์ทรงคุณค่าของแบรนด์ทิฟฟานี่ และนั่นครอบคลุมถึงทุกสิ่งที่เป็นลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรของทิฟฟานี่ ไม่เว้นแม้แต่กล่องเครื่องประดับสีฟ้าอมเขียวเหมือนสีเปลือกไข่นกโรบิน และริบบิ้นผูกกล่องที่เป็นผ้าซาตินสีขาว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ทิฟฟานี่ เหล่านี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของทิฟฟานี่ที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว